บทความที่ได้รับความนิยม

วันเสาร์ที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

เริ่มต้นเล่นหุ้นยังไง ตอนที่ 9

บริหารพอร์ตอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ
       หลายคนอาจกังวลว่า... ถ้าไม่ใช่มืออาชีพจะบริหารพอร์ตการลงทุนได้หรือไม่? ทำได้แน่... แค่เริ่มจาก“กำหนดนโยบายการลงทุน” ของตัวคุณเอง โดยพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ เช่น วัตถุประสงค์ในการลงทุน ความเสี่ยงที่ยอมรับได้ ผลตอบแทนที่คาดหวัง รวมถึงข้อจำกัดในการลงทุนซึ่งแต่ละคนจะมีนโยบายการลงทุน ที่แตกต่างกัน บางคนอาจต้องการปกป้องเงินทุน ในขณะที่บางคนอาจต้องการเพิ่มค่าเงินทุน 
        จากนั้นจึง “สำรวจช่องทางการลงทุนประเภทต่างๆ” เพื่อเปรียบเทียบผลตอบแทนและความเสี่ยงของการลงทุนแต่ละประเภท ในขณะเดียวกันก็ต้อง “ประเมินภาวะตลาด” ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต เพื่อประเมินระดับความเสี่ยงของภาวะตลาด และพยากรณ์อัตราผลตอบแทนที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุน
         ขั้นตอนถัดมา นับเป็นขั้นตอนที่สำคัญมากในการบริหารพอร์ตการลงทุนให้ประสบความสำเร็จ นั่นก็คือ“จัดสรรเงินลงทุน” โดย การแบ่งเงินไปลงทุนในสินทรัพย์หลายๆ ประเภทที่สอดคล้องกับนโยบายการลงทุนของคุณ เช่น เงินฝาก พันธบัตร หุ้นกู้ กองทุนรวม หุ้น ฯลฯ ไม่ลงทุนในสินทรัพย์ตัวใดตัวหนึ่งเพียงอย่างเดียว เหมือนกับคำเปรียบเทียบที่ว่า “อย่าใส่ไข่ทั้งหมดไว้ในตะกร้าใบเดียว” 
         โดยที่ “ตะกร้า” ก็คือ การลงทุนในสินทรัพย์อย่างใดอย่างหนึ่ง และ “ไข่” ก็คือ เงินลงทุนทั้งหมดที่เรามี เพราะถ้าโชคร้ายตะกร้าใบเดียว ที่เรามีเกิดตกลงพื้น ไข่ทั้งหมดในตะกร้าก็แตกกระจาย แต่ถ้าเรามีตะกร้าหลายใบ แล้วแบ่งไข่ไปใส่ตะกร้านั้นบ้าง ตะกร้านี้บ้าง เวลาเกิดความเสียหายกับตะกร้าใบหนึ่ง อย่างน้อยก็ยังเหลือไข่ในตะกร้าใบที่เหลือ
             ดังนั้น อย่าเลือกลงทุนไปที่สินทรัพย์ประเภทใดประเภทหนึ่งจนหมดใจ เพราะถ้าเกิดผลตอบแทนที่ได้รับไม่เป็นอย่างที่หวังคุณจะได้เจ็บตัวน้อยหน่อย 
            แต่การกระจายการลงทุนที่ดี ก็ไม่ใช่ว่าการลงทุนในโลกนี้มีกี่ประเภทก็จัดเต็มไปทุกอย่าง เพราะการลงทุนที่“หลากหลายมากเกินไป” ก็ทำให้วุ่นวายและไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุดเสมอไป เพราะการจะลงทุนอะไร ก็ต้องทำความรู้จัก ทำความเข้าใจ และต้องคอยติดตามข่าวสารที่เกี่ยวข้อง และเราก็ไม่ใช่ยอดมนุษย์ที่จะเก่งไปทุกเรื่องเพราะฉะนั้น เลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่คิดว่า “แจ๋วจริง” และ “เจ๋งพอ” จะดีกว่า
            ในการกระจายการลงทุนเพื่อลดความเสี่ยงของการลงทุนนั้น ยังจะต้องมี “การจัดสรรสัดส่วนการลงทุนที่เหมาะสม” ซึ่งอาจจะพิจารณาได้จาก “อายุ” หรือ “การยอมรับความเสี่ยง”
            สำหรับ วัยเริ่มต้นทำงาน โดยทฤษฎีแล้วสามารถจัดสรรเงินลงทุนส่วนใหญ่ไปอยู่ในสินทรัพย์ที่มีความ เสี่ยงสูง เช่น กองทุนหุ้น หุ้น หรือตราสารอนุพันธ์ และส่วนที่เหลือจึงจัดสรรไปลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น ตราสารหนี้ เพราะวัยนี้อายุยังน้อย ยังโสด ไม่มีภาระทางการเงินมากมายเหมือนคนที่มีครอบครัวแล้ว แถมยังมีเวลาผ่านร้อนผ่านหนาวได้อีกหลายสิบปี ไม่ เหมือนคนที่อายุมาก และเหลือเวลาทำงานทำเงินอีกไม่กี่ปี ซึ่งไม่เหมาะที่จะเอาเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพราะถ้าเกิดขาดทุนหนักๆ จะไม่มีโอกาสแก้ตัวอีกแล้ว จึงต้องนำเงินส่วนใหญ่ไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงน้อยลง และแน่นอนว่าโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนสูงๆ ก็จะลดลงตามไปด้วย 
           ขั้นตอนสุดท้าย คือ “การติดตามผลและปรับปรุงพอร์ตการลงทุน” ให้เข้ากับสถานการณ์และภาวะตลาดโดยคุณต้องหมั่นตรวจสอบ “สถานะการลงทุน” ของตนเองเป็นประจำ อาจจะทุก 6 เดือน หรือ 1 ปี ว่าเป็นไปตามเป้าหมายการลงทุนที่กำหนดไว้ตอนต้นหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ จะได้ “ปรับพอร์ตการลงทุน”ของตนได้ทันท่วงที


กลยุทธ์ในการลงทุนในหุ้น
       การลงทุนในหุ้นประเภทต่างๆ นั้น ผู้ลงทุนควรทราบว่าก่อนว่าหุ้นสามารถแบ่งได้กี่ประเภท แต่ละประเภทมีลักษณะอย่างไร และสามารถนำไปใช้วางกลยุทธ์การลงทุนได้อย่างไร เพื่อให้สอดคล้องกับรูปแบบของผู้ลงทุนแต่ละคน ซึ่งหุ้นแต่ละตัวนั้น สามารถเปลี่ยนสถานะหรือประเภทของตัวหุ้นเองได้เสมอ โดยหลักการทั่วไป หุ้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักๆ ได้แก่ “หุ้นคุณค่า” (Value Stock) และ “หุ้นเติบโต” (Growth Stock) ซึ่งจะกล่าวในรายละเอียดดังต่อไปนี้


การเลือกหุ้น Value Stock
       หมายถึง หุ้นที่มีราคาหรือมูลค่าต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมตามทฤษฎี (ของดี ราคาถูก) หรือเป็นหุ้นที่มีปัจจัย พื้นฐานดี เหมาะสำหรับการลงทุนในระยะยาว โดยลักษณะเด่นของหุ้นประเภทนี้ คือ เป็นหุ้นที่เน้นอัตราปันผลที่สูง แต่มักจะมีผลการดำเนินงานเติบโตไม่โดดเด่น หรืออาจเป็นกิจการที่มีการเติบโตเต็มที่แล้ว ทำให้คนตีราคาของหุ้นตัวนี้ต่ำมากจนไม่สนใจซื้อขายกัน จึงทำให้ราคานั้นต่ำกว่าราคาที่เหมาะสม


**โดยเกณฑ์สำคัญที่ใช้ตัดสินใจว่าหุ้นใดเป็นหุ้น Value Stock นั้น เราใช้ลักษณะใหญ่ๆ 3 ข้อดังนี้ 
  • อัตราการจ่ายเงินปันผล (High Dividend Yield) สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือของกลุ่มเดียวกัน หรือ
    เรียกอีกอย่างว่า “หุ้นปันผล” (Dividend Stock)
  • หุ้นที่มีการซื้อขายที่ P/E Ratio ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือของกลุ่ม หุ้น ลักษณะนี้มักจะมีผลการดำเนินงานด้อยกว่าหุ้นในกลุ่มเดียวกัน หรือต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ทำให้ผู้ลงทุนให้ค่าพรีเมียมหรือ P/E Ratio ที่ต่ำนั้นเอง
  • กล่าว โดยสรุปของ Value Stock คือ หุ้นที่มีมูลค่าต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมตามทฤษฎี และสมมติฐานหนึ่งของการลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ คือ ถ้าหากราคาของมันต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมตามทฤษฎีแล้ว สักวันหนึ่งราคาจะต้องปรับขึ้นมาหาราคาที่เหมาะสมอย่างแน่นอน จะช้าหรือเร็วเท่านั้น โดยมีลักษณะสำคัญ คือ มี P/E Ratio และ P/BV Ratio ที่ต่ำ แต่มีผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) ที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด
 การเลือกหุ้น Growth Stock
หุ้นประเภทนี้ถือได้ว่าเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากผู้ลงทุนไทยเป็นจำนวนมาก โดยมากมักมีลักษณะที่โดดเด่นในแง่ของอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรม (Industry Growth) ที่เติบโตสูงกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศ (GDP Growth)
       ***ตัวอย่างของปี 2550 กลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือกลุ่มยานยนต์ที่มีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 10% ขณะที่ GDP Growth ของประเทศไทยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 - 5.0% เท่านั้น ดังนั้น หุ้นในกลุ่มนี้จึงมีผลการดำเินินงาน ทั้งในแง่ของรายได้และกำไรสุทธิที่ขยายตัวโดดเด่นกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด
        อย่าง ไรก็ตาม บริษัทจดทะเบียนยังสามารถสร้างการเติบโตให้แก่ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ เองได้ แม้ว่าภาพรวมของอุตสาหกรรมในขณะนี้ไม่มีความโดดเด่นเหนือเศรษฐกิจโดยรวมของ ประเทศ โดยมี 2 แนวทางดังนี้
  •  Inorganic Growth ผ่าน การควบรวม และ/หรือ ซื้อกิจการ (Merger & Acquisition : M&A) ซึ่งเป็นแนวทางที่เริ่มได้รับความนิยมในบริษัทจดทะเบียนของไทยมากขึ้น เพราะเป็นทางลัดที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่บริษัท ตัวอย่างเช่น ATC – RRC, MAJOR – TRAF, BAY – GE Capital ฯลฯ
  • Organic Growth เป็นการผลักดันจากแผนธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนเอง เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต
    การลดต้นทุนการผลิต การขยายตลาด การวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ฯลฯ จะเห็นภาพได้ชัดในกลุ่มภาคการผลิตมากกว่าภาคการบริการ
ลักษณะของ Growth Stock  
         Growth Stock จะเป็นหุ้นที่เน้นการเติบโต (ของดี ราคาสูง) มีลักษณะเด่นของหุ้น โดยเป็นหุ้นที่มีผลการดำเนินงานเติบโตโดดเด่นกว่าตลาด ซึ่งเราสามารถแบ่งลักษณะเด่นๆ ของหุ้นกลุ่ม Growth Stock ได้เป็นลักษณะใหญ่ๆ 3 ข้อ ดังนี้ 
  • อัตราการจ่ายเงินปันผล (Low Dividend Yield) ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือของกลุ่มเดียวกัน เนื่องจากบริษัทลักษณะนี้จะต้องสำรองเงินทุนหมุนเวียนไว้สำหรับการขยายกิจการของตนเอง ซึ่งจะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าการจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้น 
  • หุ้นที่มีการซื้อขายที่ P/E Ratio สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือของกลุ่ม เนื่อง จากบริษัทประเภทนี้มีผลการดำเนินงานที่ดี ทั้งในแง่รายได้และความสามารภในการทำกำไร จึงทำให้ผู้ลงทุนยอมจ่ายเงินซื้อแพง หรือที่ P/E Ratio สูงนั้นเอง
  • หุ้นที่มีการซื้อขายที่ P/BV Ratio สูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดหรือของกลุ่ม ลักษณะโดยรวมจะคล้ายคลึงกับประเภทที่ 2 ดังที่กล่าวมาข้างต้น
Growth Stock เหมาะกับผู้ลงทุนแบบไหน? 
      หาก เป็นผู้ลงทุนที่มีระยะเวลาการลงทุนค่อนข้างสั้น หรือต่ำกว่า 12 เดือน และสามารถรับความเสี่ยงจากการผันผวนของการลงทุนได้มากกว่าค่าเฉลี่ยทั่วไป แล้ว Growth Stock เป็นกลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมกับผู้ลงทุนกลุ่มนี้ เพราะ
ด้วย ผลการดำเนินงาน และ/หรือ ประเด็นการลงทุนจะมีส่วนสนับสนุนการปรับตัวของราคาหุ้นประเภทนี้เสมอ แต่เมื่อใดที่ผลการดำเนินงานออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ราคาหุ้นกลุ่มนี้จะปรับตัวลงแรงเช่นเดียวกัน  
      ทั้งนี้ หุ้นในกลุ่ม Growth Stock อาจเปลี่ยนแปลงเป็นกลุ่ม Value Stock ได้ จึงต้องพิจารณาตรวจสอบหุ้นที่ลงทุนเสมอ เพื่อให้เหมาะสมกับรูปแบบการลงทุนของผู้ลงทุน 

การเปรียบเทียบระหว่าง Value Stock และ Growth Stock


http://www.tsi-thailand.org
  
Value Stock และ Growth Stock เปลี่ยนแปลงได้หรือไม่?
    จากข้อสรุปการเปรียบเทียบระหว่าง Value Stock และ Growth Stock ข้างต้นนั้น เป็นเพียงสูตรสำเร็จอย่างง่ายต่อการแยกประเภทของหุ้น ซึ่งในความเป็นจริง หุ้นๆ หนึ่งอาจมีลักษณะของหุ้นประเภทหนึ่ง และเปลี่ยนไปมีลักษณะของหุ้นอีกประเภทอีกหนึ่งได้ในช่วงเวลาที่แตกต่างกัน
     ***ตัวอย่างเช่น บริษัท ABC เป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หากย้อนกลับไปในอดีต (T0) ซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งการลงทุนโครงข่ายให้ครอบคลุมพื้นที่มีจำนวนผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีการซื้อขายหุ้นที่ P/E Ratio เฉลี่ย สูงถึง 58 เท่า (สูงกว่าค่าเฉลี่ย P/E Ratio ของตลาดที่อยู่ราวๆ 20 เท่า) หากพิจารณาจากแนวโน้มผลการดำเนินงานที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง หุ้น ABC จะจัดเป็นหุ้น Growth Stock ณ ขณะนั้น
      แต่เมื่อผ่านจุดการขยายโครงการขนาดใหญ่ไปแล้ว อัตราค่าบริการถูกลง ราคาโทรศัพท์มือถือถูกลง การเพิ่มของจำนวนผู้ใช้บริการก้าวกระโดด แต่ผลการดำเนินงานเริ่มทรงตัว ส่งผลให้ P/E Ratio ที่ซื้อขายเฉลี่ยลดลงมาอยู่ที่ 16 เท่าในช่วงเวลา (T1) ขณะที่ SET ซื้อขายที่ P/E Ratio 10 เท่า กล่าวคือ หุ้น ABC ซื้อขายที่ P/E Ratio สูงกว่าตลาดเพียง 6 เท่า สะท้อนได้ว่าหุ้น ABC ในขณะนั้นเป็น Value Stock 
      จาก ตัวอย่างข้างต้น เป็นการสะท้อนถึงกลยุทธ์การลงทุนของหุ้นหนึ่งๆ ผู้ลงทุนจะต้องพิจารณาและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับภาวะการในเวลา นั้นๆ ด้วย เพราะการเปลี่ยนแปลงของลักษณะหุ้นจากประเภทหนึ่งไปยังอีกประเภทหนึ่ง ลักษณะของผลตอบแทนและอัตราผลตอบแทนที่ได้ย่อมแตกต่างกัน   

จังหวะของการลงทุนในหุ้นระหว่าง Value Investor และ Growth Investor

     ผู้ ลงทุนแบบ Value Investor จะลงทุนในหุ้นแบบ Value Stock ก่อน เพราะถือว่าเป็นหุ้นที่อยู่นอกสายตาของ Growth Investor โดยผลตอบแทนที่จะได้รับอยู่ในรูปของอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผล (Dividend Yield) และเมื่อบริษัทฯ นั้นๆ เริ่มมีผลประกอบการที่ดีขึ้นอย่าง ต่อเนื่อง จนเริ่มมีความน่าสนใจในสายตาของ Growth Investor ซึ่งมักจะเป็นจุดที่ Value Investor พิจารณาว่าราคาหุ้นเริ่มแพง ก็จะเริ่มขายหุ้น เพื่อทำกำไรจากส่วนต่างของราคา (Capital Gain) โดย Growth Investor จะเข้ามาเป็นผู้ซื้อหุ้นต่อจาก Value Investor นั้นเอง และเมื่อใดที่ความน่าสนใจของหุ้นในแง่ของผลการดำเนินงานลดลง Growth Investor จะเริ่มขายหุ้นเพื่อทำกำไรจากส่วนต่างราคา โดย Value Investor จะกลายมาเป็นผู้ซื้อหุ้นต่อจาก Growth Investor นั่นเอง
เลือกหุ้นอย่าลืม เบต้า 
     “ค่าเบต้า” (?) เป็นอีกปัจจัยที่ใช้เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของ “ราคาหุ้น” เทียบกับ “การเคลื่อนไหวของดัชนีตลาดหลักทรัพย์” หรือเรียกในเชิงสถิติ คือ ความสัมพันธ์ระหว่างราคาหุ้นกับดัชนีตลาดหลักทรัพย์นั่นเอง สามารถแบ่งได้เป็น 3 ลักษณะดังต่อไปนี้ 
      1. ค่าเบต้า > 1 หมายถึง ราคาหุ้นจะเคลื่อนไหวในอัตราที่สูงกว่าการ เปลี่ยนแปลงของตลาด เช่น หุ้น ABC มีค่าเบต้าที่ 1.2 เท่า หาก SET ปรับตัวขึ้น 10% ในวันนี้ ราคาหุ้น ABC จะปรับขึ้น 12% และในทางกลับกัน SET ลดลง 10% ราคาหุ้น ABC จะลดลง 12% เช่นกัน

http://www.tsi-thailand.org
        2. ค่าเบต้า = 1 หมายถึง ราคาหุ้นจะเปลี่ยนแปลงเท่ากับการเคลื่อนไหวของตลาด ซึ่งมักเป็นหุ้นตลาด (Market Cap.) เช่น หุ้น XYZ มีค่าเบต้าที่ 1 เท่า หาก SET ปรับตัวขึ้น 10% ในวันนี้ ราคาหุ้น XYZ ปรับขึ้น 10% และในทางกลับกัน SET ลดลง 10% ราคาหุ้น XYZ จะลดลง 10% เช่นกัน

http://www.tsi-thailand.org
        3. ค่าเบต้า < 1 หมายถึง ราคาหุ้นจะเปลี่ยนแปลงหรือผันผวนน้อยกว่าตลาด ซึ่งมักเป็นหุ้น Defensive เช่น หุ้น DEF มีค่าเบต้าที่ 0.8 เท่า หาก SET ขึ้น 10% ราคาหุ้น DEF ขึ้น 8% แต่ในทางกลับกัน SET ลดลง 10% ราคาหุ้น DEF ลดลง 8%


เลือกเบต้าแบบไหนดี?
        “ค่าเบต้า” (?) คำนวณจากการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้น เทียบกับการเปลี่ยนแปลงของดัชนีตลาด ดังนั้นการนำข้อมูลแต่ละช่วงเวลามาประเมินค่าเบต้า ย่อมได้ค่าเบต้าที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น ลักษณะของค่าเบต้าที่ดี และน่าเชื่อถือ คือ ช่วงเวลาของข้อมูลที่นำมาใช้ ยิ่งช่วงเวลานาน ความน่าเชื่อถือจะดีขึ้น เพราะหากนำข้อมูลช่วงสั้นๆ มาพิจารณา ราคาหุ้นในช่วงเวลานั้นๆ อาจมีความผันผวนสูงจากปัจจัยใดปัจจั ยหนึ่ง ซึ่งจะส่งผลให้ค่าเบต้าที่ได้สูงกว่าปกติหรือค่าเฉลี่ยของหุ้นนั้นๆ ในทางปฎิบัติมักใช้ช่วงเวลา 6 เดือน หรือ 12 เดือน
กลยุทธ์การใช้ค่าเบต้าในการตัดสินใจลงทุน
              1. Fund Flow เข้า หรือตลาดเป็นทิศทางขาขึ้น ควรเลือกหุ้นที่มีค่าเบต้าเท่ากับ 1 หรือสูงกว่า เพราะผู้ลงทุนต่างชาติจำเป็นต้องลงทุนในหุ้นที่มีขนาดใหญ่ หรือ Market Cap. สูง และเมื่อตลาดโดยรวมมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น การเลือกลงทุนในหุ้นที่มีค่าเบต้าสูง แนวโน้มการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นจะสูงกว่าตลาด แต่ขณะเดียวกันความเสี่ยงจากการลงทุนจะสูงขึ้นด้วยเช่นกัน
              2. ภายใต้ภาวะตลาดผันผวน ไร้ทิศทางชัดเจน ควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มีค่าเบต้าต่ำกว่า 1 เพื่อลดความเสี่ยงจากการลงทุน โดยส่วนใหญ่นักกลยุทธ์จะแนะนำให้ลงทุนในหุ้นประเภท Defensive หรือหุ้นที่ให้อ้ตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงกว่าค่าเฉลี่ยของตลาด (Dividend Stock) เพราะผลตอบแทนจากเงินปันผลจะสามารถเป็นกันชนที่จะช่วยลดการผันผวนของราคาได้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

มีข้อสงสัยสามารถแสดงความคิดเห็นเข้ามาได้ครับ เรายินดีตอบกลับให้...