วิเคราะห์แบบพื้นฐาน ข้อมูลอุตสาหกรรม
นอกจากการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจที่นักลงทุนควรทราบก่อนการตัดสินใจลงทุนในหุ้นสามัญแล้ว ข้อมูลสำคัญอีกประเภทหนึ่งที่นักลงทุนควรวิเคราะห์ คือข้อมูลระดับอุตสาหกรรม ทั้งนี้เนื่องจากอุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรมมีลักษณะโครงสร้างและการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะกระทบต่ออุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรมย่อมไม่เท่ากัน***ตัวอย่างเช่น
ในกรณีที่เศรษฐกิจอยู่ในช่วงหดตัว เป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มลดลง GDP เริ่มปรับตัวลดลง รายได้ของครัวเรือนเริ่มลดลงแต่อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้อาจจะกระทบกับยอดขายของอุตสาหกรรมอาหารหรืออุตสาหกรรมยาไม่มากนัก เนื่องจากสินค้าเหล่านี้เป็นสิ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมที่จำหน่ายสินค้าฟุ่มเฟือย ซึ่งบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเหล่านี้จะมียอดขายที่ลดลงมากกว่า หรือในกรณีอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและการนำเข้าสินค้า หากอัตราแลกเปลี่ยนมีการเปลี่ยนแปลง อุตสาหกรรมเหล่านี้ก็จะได้รับผลกระทบมากกว่าอุตสาหกรรมที่ขายหรือสั่งซื้อสินค้าภายในประเทศเพียงอย่างเดียว จากตัวอย่างทั้งสองทำให้เราทราบว่าผลกระทบทางเศรษฐกิจที่กระทบต่ออุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรมนั้นรุนแรงไม่เท่ากัน ดังนั้น นักลงทุนจึงจำเป็นที่จะต้องวิเคราะห์ข้อมูลในระดับอุตสาหกรรมด้วยเพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุน
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
วงจรการขยายตัวของอุตสาหกรรม เป็นการพิจารณาวัฏจักรชีวิตของอุตสาหกรรมหนึ่งๆ โดยแบ่งออกเป็น 4 ช่วง คือ
1. ระยะเริ่มพัฒนา (Inititial Development Stage) เป็นระยะที่อุตสาหกรรมเพิ่งเริ่มก่อตั้งและมีผู้ผลิตเพียงไม่กี่ราย ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาในการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ให้ลูกค้ายอมรับและเป็นที่รู้จัก ในช่วงนี้ยอดขายของธุรกิจจะเติบโตค่อนข้างช้าและมีกำไรค่อนข้างต่ำ เนื่องจากเป็นช่วงที่ธุรกิจมีค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการวิจัยพัฒนาหรือการแนะนำสินค้าค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลให้โอกาสที่นักลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลจากการลงทุนในบริษัทเหล่านี้มีไม่มาก
2. ระยะเจริญเติบโต (Growth) ในระยะนี้สินค้าเริ่มเป็นที่ยอมรับของตลาด ยอดขายและผลกำไรจะเพิ่มขึ้นในอัตราสูงขึ้น ทำให้เริ่มมีคู่แข่งขันเข้ามาในอุตสาหกรรมนี้มากขึ้น แต่ผลกำไรที่บริษัทได้รับจำนวนมากนั้นจะต้องนำไปลงทุนต่อเพื่อใช้ในการผลิตสินค้าเพื่อรองรับการขยายตัวของตลาดที่มากขึ้น ซึ่งนักลงทุนที่ลงทุนในบริษัทเหล่านี้จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผลมากขึ้น แต่จะได้รับในอัตราที่น้อยอยู่ เนื่องจากบริษัทจะต้องสำรองเงินบางส่วนเพื่อใช้ในการลงทุนต่อ
3. ระยะขยายตัว (Expansion) เป็นระยะที่อัตราการขยายตัวของยอดขายและกำไรยังเป็นไปในทางบวก แต่เป็นอัตราที่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับระยะที่สอง เนื่องจากในระยะนี้มีจำนวนคู่แข่งขันเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่มากขึ้น อุตสาหกรรมที่อยู่ในระยะนี้มีความสามารถที่จะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นได้มากขึ้น
4. ระยะอิ่มตัว หรือเสื่อมถอย (Maturity or Decline) ระยะนี้เป็นระยะที่ความต้องการในสินค้าเริ่มถึงจุดอิ่มตัว ทำให้เริ่มมีบริษัทต่างๆ ออกจากอุตสาหกรรมนี้ไป ถ้าบริษัทที่ยังคงอยู่ไม่มีการปรับปรุงผลิตภัณฑ์ หรือพัฒนากลยุทธ์ใหม่ๆ ก็จะทำให้เข้าสู่ระยะเสื่อมถอยในที่สุด
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
การวิเคราะห์อุตสาหกรรมจาก Five Forces Model เป็นแนวทางการวิเคราะห์สภาวะการแข่งขันในอุตสาหกรรม
โดยพิจารณาจาก 5 ปัจจัยต่อไปนี้ร่วมกัน ได้แก่
โดยพิจารณาจาก 5 ปัจจัยต่อไปนี้ร่วมกัน ได้แก่
1. การแข่งขันภายในอุตสาหกรรม เป็นการพิจารณาว่า ณ ปัจจุบันมีบริษัทที่แข่งขันอยู่ในอุตสาหกรรมนี้จำนวนกี่ราย ถ้ามีบริษัทจำนวนมากในอุตสาหกรรมแสดงให้เห็นถึงการแข่งขันที่รุนแรง ในขณะที่ถ้ามีบริษัทจำนวนน้อยรายในอุตสาหกรรมก็แสดงให้เห็นว่าการแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นมีน้อย โดยปกติกำไรของบริษัทในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงจะน้อยกว่าบริษัทในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันไม่รุนแรง ดังนั้น โอกาสที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผลจากการลงทุนในบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันรุนแรงจึงน้อยกว่าไปด้วย
2. อุปสรรคของคู่แข่งขันรายใหม่ นอกจากการพิจารณาถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมแล้ว เราจะต้องพิจารณาถึงคู่แข่งขันที่กำลังจะเข้ามาแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้รายใหม่ๆ ด้วยว่า คู่แข่งขันรายใหม่จะสามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้ยากง่ายเพียงใด เนื่องจากหากคู่แข่งขันรายใหม่สามารถเข้าสู่อุตสาหกรรมนี้ได้ง่าย ก็จะทำให้จำนวนคู่แข่งขันในอุตสาหกรรมนี้มีจำนวนมากขึ้น ซึ่งอาจจะนำไปสู่การตัดราคาสินค้าระหว่างกัน ส่งผลให้กำไรต่อหน่วยของบริษัทในอุตสาหกรรมนั้นๆ ลดลง และทำให้ผลตอบแทนในรูปเงินปันผลที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับมีโอกาสลดลงไปด้วย
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
3. อำนาจต่อรองของผู้ซื้อสินค้า หากอุตสาหกรรมใดผู้ซื้อมีอำนาจในการต่อรองราคาได้มาก ก็จะทำให้บริษัทในอุตสาหกรรมนั้นได้กำไรต่อหน่วยที่ลดลง ในทางตรงกันข้าม หากสินค้าใดที่ลูกค้าไม่มีอำนาจต่อรอง กล่าวคือ เนื่องจากมีผู้ขายสินค้าชนิดนั้นในอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่ราย ความสามารถในการกำหนดราคาสินค้าก็ขึ้นอยู่กับผู้ขายเป็นหลัก กำไรของบริษัทเหล่านี้จะมีมาก และสามารถจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นมากขึ้นไปด้วย
4. อำนาจต่อรองของผู้ขายวัตถุดิบ หากอุตสาหกรรมใดมีผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบน้อยราย อำนาจในการต่อรองราคาก็จะตกอยู่กับผู้ขายวัตถุดิบ แต่ถ้ามีผู้จัดจำหน่ายวัตถุดิบมากราย อำนาจในการต่อรองราคาวัตถุดิบก็จะตกอยู่กับบริษัทนั้นๆ ซึ่งอำนาจในการต่อรองราคาวัตถุดิบจะส่งผลกระทบต่อราคาต้นทุนการผลิตของบริษัทนั่นเอง ดังนั้น บริษัทใดมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบมาก ก็จะทำให้บริษัทนั้นมีต้นทุนในการผลิตที่ต่ำ และมีโอกาสในการได้รับกำไรที่มากขึ้น ดังนั้น ผู้ถือหุ้นก็จะมีโอกาสที่จะได้รับเงินปันผลที่มากขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน
ในทางตรงกันข้าม หากบริษัทใดมีอำนาจในการต่อรองกับผู้ขายวัตถุดิบน้อย ก็จะทำให้บริษัทนั้นมีต้นทุนในการผลิตที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้กำไรที่คาดว่าจะได้รับลดลง ดังนั้น โอกาสที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับเงินปันผลก็ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน
5. สินค้าทดแทน หากอุตสาหกรรมใดมีสินค้าที่สามารถใช้ทดแทนได้จำนวนมาก การแข่งขันในอุตสาหกรรมนั้นจะยิ่งรุนแรงขึ้น การแย่งส่วนแบ่งการตลาดและการแบ่งผลกำไรก็จะมีมากขึ้นตามมา เนื่องจากผู้บริโภคหรือลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้นนั่นเอง ตัวอย่างเช่น ในอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งประกอบด้วยเนื้อสัตว์ ผัก และผลไม้ต่างๆ ในช่วงเวลาที่มีข่าวไข้หวัดนก ผู้บริโภคอาจหันไปบริโภคเนื้อหมู อาหารทะเล หรือผักผลไม้ต่างๆ แทนการบริโภคเนื้อไก่ เป็นต้น ดังนั้น บริษัทในอุตสาหกรรมเหล่านี้จึงมักมีผลกำไรที่ต่ำ ซึ่งจะส่งผลให้การจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นลดลงไปด้วย
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
วิเคราะห์แบบพื้นฐาน ข้อมูลบริษัท
การวิเคราะห์บริษัทมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้คัดเลือกบริษัทที่ควรลงทุน โดยแบ่งการวิเคราะห์ออกเป็น 2 รูปแบบ คือ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ (Qualitative Approach) และการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ (Quantitative Approach) นักลงทุนควรให้ความสำคัญกับข้อมูลทั้งสองประเภท โดยพิจารณาข้อมูลร่วมกันก่อนการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์
ข้อมลเชิงคุณภาพ และข้อมูลเชิงปริมาณ
1. ข้อมูลเชิงคุณภาพ เป็นข้อมูลที่ใช้เพื่อการประเมินระดับความสามารถของบริษัทในด้านต่างๆ โดยไม่ใช้ข้อมูลที่เป็นตัวเลข โดยปกติข้อมูลเชิงคุณภาพจะประกอบไปด้วย ข้อมูลประวัติความเป็นมาของบริษัท ลักษณะการดำเนินงานของบริษัท แผนงานที่บริษัทคาดว่าจะดำเนินการในอนาคต การเชื่อมโยงผลกระทบของภาวะเศรษฐกิจ และอุตสาหกรรม ที่มีต่อธุรกิจ เป็นต้น
2. ข้อมูลเชิงปริมาณ เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลโดยประเมินจากตัวเลขที่เชื่อถือได้ เพื่อใช้ในการบ่งบอกถึงผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ตัวอย่างข้อมูลเชิงปริมาณที่สำคัญที่นักลงทุนควรทำความเข้าใจก่อนการตัดสินใจลงทุนในหุ้นสามัญ ได้แก่ งบการเงิน และหมายเหตุประกอบงบการเงิน
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
การวิเคราะห์ ROE สามารถแยกองค์ประกอบออกเป็น 3 ส่วน ทำให้วิเคราะห์ได้ละเอียดยิ่งขึ้น
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
งบการเงิน (Financial Statement) เป็นข้อมูลเชิงปริมาณที่สำคัญที่นักลงทุนควรทำความเข้าใจก่อนการตัดสินใจลงทุนโดยงบการเงินคือรายงานทางบัญชีรูปแบบหนึ่งที่อธิบายกิจกรรมทางธุรกิจ 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรมการดำเนินงาน กิจกรรมการลงทุน และกิจกรรมการจัดหาเงินทุน โดยทั่วไปงบการเงินที่ผู้ลงทุนควรทราบจะประกอบไปด้วย 3 งบหลัก และหมายเหตุประกอบงบการเงิน
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
1. งบดุล (Balance Sheet) คือ งบที่แสดงฐานะการเงินของบริษัท ณ ขณะใดขณะหนึ่ง ประกอบไปด้วย 2 ส่วนหลักๆ คือ
ส่วนแรก คือส่วนของสินทรัพย์ จะรายงานเกี่ยวกับการลงทุนในทรัพยากรของบริษัทว่าประกอบไปด้วยอะไรบ้าง(เช่น เงินสด ลูกหนี้ สินค้าคงคลัง เครื่องจักร รถยนต์ อาคาร ที่ดิน เป็นต้น) และรายการเหล่านั้นมีมูลค่าเท่าไร
ส่วนที่สอง คือส่วนของหนี้สิน และส่วนของเจ้าของ จะรายงานเกี่ยวกับแหล่งเงินทุนว่าเงินที่นำมาลงทุนในทรัพยากรของบริษัทนั้นมาจากแหล่งใด เช่น ถ้ามาจากการกู้ยืมจะรายงานในส่วนของหนี้สิน แต่ถ้ามาจากเงินส่วนตัวหรือการขายหุ้นสามัญจะรายงานในส่วนของเจ้าของ ซึ่งความสัมพันธ์ของ 2 ส่วนสามารถอธิบายได้โดยสมการต่อไปนี้
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
2. งบกำไรขาดทุน (Income Statement) เป็นงบการเงินที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงระยะเวลาหนึ่งๆ โดยแสดงรายการหลักๆ อันเกี่ยวข้องกับผลประกอบการของบริษัท ได้แก่ ยอดขาย ต้นทุนขาย ค่าใช้จ่าย และกำไร เป็นต้น
ตัวอย่าง งบกำไรขาดทุน บริษัท xxx จำกัด สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2549
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
3. งบกระแสเงินสด (Statement of Cash Flow) เป็นงบการเงินที่แสดงข้อมูลเกี่ยวกับกระแสเงินสดรับ และกระแสเงินสดจ่ายของบริษัทในช่วงระยะเวลาหนึ่ง โดยแสดงเป็นแหล่งที่มา และแหล่งใช้ไปของเงินสด แบ่งตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นในธุรกิจ ซึ่งประกอบไปด้วย กระแสเงินสดจากกิจกรรมการดำเนินงาน กระแสเงินสดจากกิจกรรมการลงทุน และกระแสเงินสดจากกิจกรรมการจัดหาเงินทุน ซึ่งผลรวมของกระแสเงินสดทั้งสามกิจกรรมจะเท่ากับจำนวนเงินสดของกิจการที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงในแต่ละปี
ตัวอย่าง งบกระแสเงินสด บริษัท xxx จำกัด สิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2549
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
4. หมายเหตุประกอบงบการเงิน เป็นรายงานที่แสดงรายละเอียดเพิ่มเติมสำหรับข้อมูลที่ไม่ได้รวมไว้ในงบการเงินทั้งสามประเภทข้างต้น ตัวอย่างข้อมูลที่แสดงในหมายเหตุประกอบงบการเงิน ได้แก่ นโยบายบัญชีที่บริษัทเลือกใช้ วิธีการคำนวณค่าเสื่อมราคา วิธีการบันทึกบัญชีต้นทุนขาย เป็นต้น
นอกจากงบการเงินทั้งสามงบ และหมายเหตุประกอบงบการเงินที่นักลงทุนควรศึกษาก่อนการลงทุนแล้ว “รายงานผู้สอบบัญชี” ยังเป็นข้อมูลสำคัญอีกประเภทหนึ่งที่ช่วยให้ผู้อ่านงบเกิดความมั่นใจในความถูกต้องของข้อมูลตามมาตรการบัญชีที่รับรองทั่วไป ดังนั้น ก่อนที่นักลงทุนจะนำข้อมูลในงบการเงินไปใช้ในการตัดสินใจ นักลงทุนควรอ่านรายงานความเห็นของผู้สอบบัญชีรับอนุญาตด้วย
"รายงานผู้สอบบัญชี“นักลงทุนควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับความเห็นของผู้สอบบัญชีที่แสดงในรายงานผู้สอบบัญชี ว่าผู้สอบบัญชีให้ความเห็นเกี่ยวกับงบการเงินไว้อย่างไร” รายงานผู้สอบบัญชีมี 4 แบบ ได้แก่
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ
สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงคุณภาพ เพื่อไม่ให้นักลงทุนวิเคราะห์ข้อมูลประเภทนี้แบบไร้ทิศทาง จึงมีเครื่องมือประเภทหนึ่งที่ช่วยให้นักลงทุนสามารถใช้วิเคราะห์นั่นคือ การวิเคราะห์ SWOT โดยการวิเคราะห์ SWOT จะช่วยให้นักลงทุนทราบถึงจุดแข็ง (Strengths) ของบริษัทว่ามีอะไร และอะไรคือจุดอ่อน (Weaknesses) ของบริษัท รวมถึงในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้บริษัทจะได้รับโอกาส (Opportunities) อะไรใหม่ๆ หรือจะต้องเผชิญกับอุปสรรค (Threats) อะไรหรือไม่
ตัวอย่าง การวิเคราะห์ SWOT ของบริษัท XXX ซึ่งดำเนินธุรกิจทางด้านสื่อสารโทรคมนาคม
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
เครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ
สำหรับการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ เครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้นักลงทุนวิเคราะห์ข้อมูลประเภทนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การวิเคราะห์ “อัตราส่วนทางการเงิน” ซึ่งการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินจะช่วยให้การทำความเข้าใจงบการเงินง่ายขึ้น ทั้งในด้านการแปลความหมาย และการเปรียบเทียบข้ามบริษัท โดยปกติการวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินจะช่วยให้เราเข้าใจบริษัทมากขึ้นในประเด็นต่างๆ เช่น สภาพคล่อง ความสามารถในการทำกำไรของบริษัท ประสิทธิภาพการใช้สินทรัพย์ของกิจการ และความสามารถในการก่อหนี้ เป็นต้น
ตัวอย่างการวิเคราะห์ “อัตราส่วนทางการเงิน” โดยใช้ ROE
ROE (Return on Equity) คืออัตราส่วนทางการเงินที่แสดงถึงผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นสามัญจะได้รับหลังจากหักค่าใช้จ่ายต่างๆ รวมถึงผลตอบแทนที่จ่ายให้กับเจ้าหนี้แล้วจากการนำเงินมาลงทุนในบริษัท โดยมีสูตร
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
***ตัวอย่างการวิเคราะห์ “อัตราส่วนทางการเงิน” โดยใช้ ROE
ตัวอย่างเช่น
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
จากตัวอย่างข้างต้น หากเราวิเคราะห์โดยไม่ใช้อัตราส่วนทางการเงินเราจะพบว่ากำไรสุทธิของกิจการในปี 2549 เพิ่มขึ้นจากปี 2548 จำนวน 20 ล้านบาท ซึ่งทำให้เราสรุปว่าเป็นเรื่องที่ดีสำหรับบริษัท แต่เมื่อเราวิเคราะห์ข้อมูลนี้ใหม่ โดยใช้ อัตราส่วนทางการเงิน ROE เราจะพบว่านอกจากกำไรสุทธิที่เพิ่มขึ้นแล้ว ในส่วนของเจ้าของก็เพิ่มขึ้นด้วยเช่นเดียวกัน เมื่อเราคำนวณโดยใช้สูตร ROE เราจึงพบว่าอัตราผลตอบแทนที่ผู้ถือหุ้นจะได้รับในปี 2549 มีค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับปี 2548 ถึง 1%
ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย : The Stock Exchange of Thailand
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
มีข้อสงสัยสามารถแสดงความคิดเห็นเข้ามาได้ครับ เรายินดีตอบกลับให้...