![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
ขั้นตอนแรกสุดและสำคัญสุดของการเทรดตราสารทุนคือการวางแผนการลงทุน โดยนักลงทุนต้องกำหนดวัตถุประสงค์การลงทุนของตนว่า การลงทุนในตราสารทุนของตนมีจุดมุ่งหมายเพื่ออะไร เนื่องจากเป้าหมายการลงทุนที่แตกต่างกัน ย่อมส่งผลต่อผลตอบแทน และความเสี่ยงที่แตกต่างกัน
***ตัวอย่างเช่น นักลงทุน ก. มีเป้าหมายในการลงทุนเพื่อให้ได้ผลตอบแทนในระยะสั้น นักลงทุน ก. อาจจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงจากการลงทุนที่สูง เนื่องจากผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นสามัญในช่วงเวลาสั้นๆ มักมีความผันผวนมากกว่าการลงทุนในหุ้นสามัญในช่วงเวลายาวๆ ในขณะที่ นักลงทุน ข. มีเป้าหมายในการลงทุนเพื่อเป็นการออมเงินในระยะยาว แสดงว่านักลงทุน ข. คาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนในรูปเงินปันผล ดังนั้น นักลงทุน ข. จะต้องไม่ขายหุ้น ในกรณีที่ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นหรือลดลง ตราบเท่าที่ นักลงทุน ข. ยังมั่นใจในผลประกอบการของบริษัท และมั่นใจว่าจะได้รับผลตอบแทนในรูปของเงินปันผล
2. วิเคราะห์เศรษฐกิจ
การที่นักลงทุนสามารถวิเคราะห์ข้อมูลทางเศรษฐกิจในเบื้องต้นได้ว่าช่วงเวลานี้เศรษฐกิจของประเทศ หรือเศรษฐกิจของโลกอยู่ในช่วงขาขึ้นหรือขาลง จะทำให้นักลงทุนทราบว่าช่วงเวลานี้เหมาะสมที่จะลงทุนหรือไม่ และในกรณีที่นักลงทุนยังต้องการจะลงทุน นักลงทุนควรจะมีกลยุทธ์การลงทุนอย่างไร ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก นักลงทุนอาจลดสัดส่วนการลงทุนในหุ้นสามัญลง เนื่องจากในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทส่วนใหญ่มักจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่ค่อยดี ดังนั้น ผลตอบแทนที่ได้จากการลงทุนอาจจะลดลงจนไม่สามารถชดเชยกับความเสี่ยงที่นักลงทุนต้องเผชิญจากการลงทุนในหุ้นสามัญได้ ซึ่งเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจจะขอกล่าวในหัวข้อ "วิเคราะห์แบบพื้นฐาน: ข้อมูลเศรษฐกิจ"
3. วิเคราะห์อุตสาหกรรม
นอกจากการทำความเข้าใจภาวะเศรษฐกิจของประเทศหรือเศรษฐกิจของโลกแล้ว นักลงทุนยังต้องทำความเข้าใจข้อมูลอุตสาหกรรมอีกด้วย เนื่องจากตัวแปรทางเศรษฐกิจมักจะกระทบต่ออุตสาหกรรมแต่ละอุตสาหกรรมไม่เท่ากัน ซึ่งการวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมอย่างละเอียดจะมีส่วนช่วยนักลงทุนอย่างมากในการตัดสินใจเลือกบริษัทลงทุน ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่เศรษฐกิจขาลง อุตสาหกรรมอาหารและยาจะได้รับผลกระทบน้อยกว่าอุตสาหกรรมยานยนต์หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยว เนื่องจากอาหารและยาเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น ความต้องการซื้อของผู้บริโภคยังคงมีอยู่ ทำให้รายได้ของบริษัทในอุตสาหกรรมเหล่านี้ลดลงไม่มากเท่ากับรายได้ของบริษัทในอุตสาหกรรมยานยนต์หรืออุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่ผู้บริโภคมักมองว่าเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย เมื่อเศรษฐกิจไม่ดีก็จะลดการบริโภคในสินค้าเหล่านี้
4. วิเคราะห์บริษัท
เมื่อนักลงทุนวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว ข้อมูลสุดท้ายที่นักลงทุนควรวิเคราะห์ก่อนการตัดสินใจลงทุน คือ การวิเคราะห์ข้อมูลบริษัท เพื่อตัดสินใจว่าเราจะเลือกลงทุนในบริษัทใด เนื่องจากบริษัทแต่ละบริษัทย่อมมีลักษณะการดำเนินงานที่แตกต่างกัน ผลประกอบการที่แตกต่างกัน ปัจจัยเอื้อประโยชน์ และปัจจัยที่เป็นอุปสรรคต่างกัน ดังนั้น การตัดสินใจเลือกบริษัทที่ถูกต้องก็จะทำให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนตามที่ตนคาดการณ์ไว้ แต่ถ้านักลงทุนตัดสินใจผิดก็อาจจะทำให้ได้รับผลตอบแทนต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ หรือขาดทุนจากการลงทุนก็เป็นได้ ซึ่งเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์บริษัทจะขอกล่าวในหัวข้อ "วิเคราะห์แบบพื้นฐาน: ข้อมูลบริษัท"
5. ประเมินมูลค่าที่แท้จริง
ขั้นตอนถัดมาคือ การประเมินหามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นสามัญ เพื่อใช้ในการตัดสินใจว่านักลงทุนควรจะซื้อหรือขายหุ้นตัวนี้ดี
โดยเกณฑ์การตัดสินใจคือ
- ถ้ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นสามัญที่ได้จากการประเมิน มากกว่าราคาตลาดปัจจุบัน
นักลงทุนควรตัดสินใจซื้อหุ้นสามัญตัวนั้น เพราะราคาหุ้นในปัจจุบันถูกกว่ามูลค่า
ของตัวมันเอง - ถ้ามูลค่าที่แท้จริงของหุ้นสามัญที่ได้จากการประเมิน น้อยกว่าราคาตลาดในปัจจุบันนักลงทุนก็ไม่ควรซื้อหุ้นสามัญตัวนั้น หรือในกรณีที่นักลงทุนมีหุ้นสามัญอยู่ในมือแล้ว ก็ควรขายทิ้ง เพราะราคาหุ้นในปัจจุบันแพงกว่ามูลค่าของตัวมันเอง
ซึ่งวิธีการประเมินราคาหุ้นเพื่อหามูลค่าที่แท้จริงจะกล่าวรายละเอียดในหัวข้อ
"วิเคราะห์แบบพื้นฐาน: การประเมินมูลค่าหุ้น"
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
6. หาจังหวะการลงทุน
เมื่อเราทราบแล้วว่า ราคาหุ้นในปัจจุบันต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริง (Under Value) สิ่งที่นักลงทุนควรทำคือการตัดสินใจซื้อ แต่นักลงทุนอาจเกิดคำถามต่อว่า แล้วเราควรจะ ซื้อตอนไหนดี?
โดยปกติเวลาเราซื้อของย่อมอยากซื้อของในราคาต่ำ การซื้อหุ้นก็เช่นเดียวกัน นักลงทุนคงอยากได้ราคาหุ้นที่ต่ำ ซึ่งการวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคจะช่วยให้นักลงทุนคาดการณ์ได้ว่าควรจะซื้อหุ้นในช่วงใด ในทางตรงกันข้าม ถ้าเราอยากขายของเราย่อมอยากขายได้ราคาแพง นักลงทุนก็เช่นเดียวกัน
เมื่ออยากจะขายหุ้นเพราะเห็นว่าราคาตลาดในปัจจุบันสูงเกินกว่ามูลค่าที่แท้จริงไปแล้ว (Over Value) การวิเคราะห์ปัจจัยทางเทคนิคก็ช่วยตอบคำถามนักลงทุนได้ว่าควรตัดสินใจขายหุ้นในช่วงใด
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
7. ตัดสินใจซื้อขาย
หลังจากที่นักลงทุนทำการวิเคราะห์ข้อมูล พร้อมประเมินมูลค่าและหาจังหวะในการลงทุนเรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อมาก็คือ การตัดสินใจซื้อขาย
โดยนักลงทุนต้องส่งคำสั่งซื้อหรือขายผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็นสมาชิก หรือโบรกเกอร์เท่านั้น ดังนั้น นักลงทุนทุกคนจะต้องเปิดบัญชีกับบริษัทหลักทรัพย์เพื่อใช้ในการส่งคำสั่งซื้อหรือขาย โดยโบรกเกอร์แต่ละแห่งจะมีเงื่อนไขในการพิจารณาเปิดบัญชีให้แก่ลูกค้าแต่ละรายแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับข้อกำหนดของบริษัทหลักทรัพย์
8. ติดตามผลการลงทุน
ภายหลังจากที่นักลงทุนตัดสินใจซื้อหรือขายเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่นักลงทุนควรทำในลำดับถัดมาคือ การติดตามผล กล่าวคือเป็นการหมั่นตรวจสอบสถานะการลงทุนของตนว่าเป็นไปตามเป้าหมายการลงทุนที่ตนกำหนดไว้ตอนต้นหรือไม่ หากไม่เป็นไปตามเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ทีกำหนดไว้ นักลงทุนจะได้ปรับปรุงแก้ไขวิธีการลงทุนของตนให้ทันเวลา
![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
วิเคราะห์แบบพื้นฐาน ข้อมูงเศรษฐกิจ
ดังที่ได้กล่าวไว้ในหัวข้อปัจจัยที่มีผลกระทบกับราคาหุ้นว่า ตัวแปรที่มีผลกระทบต่อผลตอบแทน และความเสี่ยง ซึ่งนำไปสู่การกำหนดมูลค่าที่แท้จริง (Intrinsic Value) ของหุ้นสามัญ ประกอบด้วยสามตัวแปร คือ ตัวแปรทางเศรษฐกิจ ตัวแปรอุตสาหกรรม และตัวแปรผลประกอบการของบริษัทนั้นๆ ในหัวข้อนี้จะขอกล่าวถึงตัวแปรทางเศรษฐกิจว่าจะส่งผลกระทบต่อการกำหนดมูลค่าที่แท้จริงได้อย่างไร
วัตถุประสงค์การวิเคราะห์แบบพื้นฐานโดยใช้ข้อมูลทางเศรษฐกิจ
การวิเคราะห์ตัวแปรทางเศรษฐกิจ มีจุดมุ่งหมายเพื่อการคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในอนาคต ทั้งแนวโน้มระยะสั้นในช่วง 1 ปีข้างหน้า และแนวโน้มระยะยาวตั้งแต่ 2 ปี ถึง 5 ปีขึ้นไป ว่าสถานการณ์อะไรบ้างที่จะกระทบต่อราคาหุ้น และการตัดสินใจลงทุนของนักลงทุน โดยผู้วิเคราะห์จำเป็นต้องดูทั้งสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ และสภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ เนื่องจากสถานการณ์การเงินในปัจจุบันมีการเปิดเสรีมากขึ้น ดังนั้น สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศอื่นก็สามารถส่งผลกระทบต่อ
ตลาดการเงิน และการลงทุนภายในประเทศได้เช่นเดียวกัน
ตัวชี้วัดและเครื่องมือบ่งชี้ที่นักลงทุนควรใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลเศรษฐกิจ
1.วัฏจักรเศรษฐกิจ เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้นักลงทุนทราบว่า ณ ขณะปัจจุบันเศรษฐกิจของประเทศ หรือเศรษฐกิจโลกอยู่ในช่วงใด ซึ่งปกติวัฏจักรเศรษฐกิจจะแบ่งเป็น 4 ช่วงได้แก่ เศรษฐกิจรุ่งเรือง (Peak) เศรษฐกิจหดตัว (Contraction) เศรษฐกิจต่ำสุด (Recession or Trough) และเศรษฐกิจขยายตัว (Recovery)![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
- เศรษฐกิจรุ่งเรือง (Peak) เป็นจุดสูงสุดของวัฏจักร ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงสุดทั้งการผลิตบริโภค
- เศรษฐกิจหดตัว (Contraction) เป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มลดลง GDP ต่ำลง การผลิตและการจ้างงานลดลง รายได้ครัวเรือนลดลง
- เศรษฐกิจต่ำสุด (Recession) ช่วงเวลานี้การว่างงานสูง ความต้องการสินค้าโดยรวมลดลง สินค้าที่ผลิตขึ้นมาไม่สามารถขายได้
- เศรษฐกิจขยายตัว (Recovery) เป็นช่วงที่การผลิตและการจ้างงานเริ่มเพิ่มขึ้น รายได้และรายจ่ายของครัวเรือนสูงขึ้น ทิศทางการลงทุนมีแนวโน้มดีขึ้น
3. ผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) เป็นมูลค่าผลิตผลของอุตสาหกรรมมวลรวม โดยจำแนกตามกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ โดยปกติผลผลิตอุตสาหกรรมมักจะเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันกับวัฏจักรเศรษฐกิจ กล่าวคือ ถ้าผลผลิตอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น หมายความว่ามูลค่าผลิตผลทางด้านอุตสาหกรรมในปีนั้นมากขึ้น ซึ่งแสดงว่าเศรษฐกิจในปีนั้นจะมีแนวโน้มขยายตัว แต่ถ้าผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง แสดงว่ามูลค่าผลิตผลทางด้านอุตสาหกรรมในปีนั้นน้อยลง แสดงว่าเศรษฐกิจในปีนั้นมีแนวโน้มหดตัว
4. ดัชนีราคาผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) เป็นดัชนีที่แสดงการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าจากผู้ผลิต โดยจำแนกเป็นราคากลุ่มผลิตภัณฑ์ และราคาในแต่ละช่วงของการผลิต ตั้งแต่วัตถุดิบไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูป ถ้าดัชนีราคาผู้ผลิตเพิ่มขึ้น แสดงว่าราคาสินค้าประเภทวัตถุดิบมีการปรับตัว
เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคจะมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นด้วย ถ้าดัชนีราคาผู้ผลิตลดลง แสดงว่าราคาสินค้าประเภทวัตถุดิบมีการปรับตัวลดลง ซึ่งจะส่งผลให้ระดับราคาสินค้าโดยทั่วไปที่จำหน่ายแก่ผู้บริโภคจะมีการปรับตัวลดลงด้วย
5. อัตราเงินเฟ้อ (Inflation Rate) เป็นภาวการณ์ที่ระดับราคาสินค้า และบริการโดยทั่วไปเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการวัดอัตราเงินเฟ้อนักลงทุนสามารถหาได้จากอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค (Consumer Price Index: CPI) กล่าวคือ ช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เป็นช่วงที่ดัชนีราคาผู้บริโภคมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น แสดงว่าราคาสินค้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายมีการปรับตัวสูงขึ้น ช่วงที่ภาวะเงินเฟ้อลดลง เป็นช่วงที่ดัชนีราคาผู้บริโภคมีการปรับตัวลดลง แสดงว่าราคาสินค้าที่ผู้บริโภคต้องจ่ายมีการปรับตัวลดลง
6. อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate) อัตราดอกเบี้ยที่นักลงทุนควรนำมาพิจารณา ควรเป็นอัตราดอกเบี้ยที่เคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง และสามารถสะท้อนสภาพคล่องของตลาดเงินได้ดี เช่น อัตราดอกเบี้ยในตลาดซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาล (Repurchase Rate) ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนในการกู้ยืมของกิจการส่วนใหญ่เพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงถึงภาระทางการเงินที่มากขึ้น ในขณะที่ถ้าอัตราดอกเบี้ยมีการปรับตัวลดลง จะส่งผลให้ต้นทุนในการกู้ยืมของบริษัทส่วนใหญ่ลดลง ทำให้ภาระทางการเงินของบริษัทต่ำลง และในช่วงนี้บริษัทส่วนใหญ่จะทำการกู้ยืมมากขึ้นเพื่อนำเงินไปลงทุน
7. อัตราการว่างงาน (Unemployment Rate) เป็นตัวเลขที่แสดงอัตราร้อยละของผู้ว่างงานในระบบเศรษฐกิจเทียบกับกำลังแรงงานรวมซึ่งสามารถบ่งบอกสภาพเศรษฐกิจโดยรวมว่าเป็นไปในทิศทางที่กำลังขยายตัวหรือหดตัว กล่าวคือ ในช่วงที่เศรษฐกิจดี หรือเศรษฐกิจขยายตัว อัตราการว่างงานมักจะต่ำ เนื่องจากบริษัทส่วนใหญ่จะทำการขยายงานจึงต้องมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น แต่ในช่วงที่เศรษฐกิจซบเซาหรือหดตัว อัตราการว่างงานมักจะสูง เนื่องจากบริษัทจะทำการลดจำนวนคนงาน และไม่จ้างพนักงานเพิ่มขึ้น เนื่องจากจะช่วยให้กิจการมีค่าใช้จ่ายที่ลดลงนั่นเอง![]() |
http://www.tsi-thailand.org |
ขอบคุณเนื้อหา และภาพประกอบ
บทความโดย : The Stock Exchange of Thailand
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
มีข้อสงสัยสามารถแสดงความคิดเห็นเข้ามาได้ครับ เรายินดีตอบกลับให้...